ผู้บริโภคร้อง สบท.โดนทวงหนี้โทรคม ทำให้เสื่อมเสียขู่เข้าบัญชีดำ
ผู้บริโภค ร้อง สบท. โดน บ.โทรคม ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ล่าสุดพบเป็นหนี้ 700 บาท ขู่ไม่ใช้หนี้โดนเข้าบัญชีดำ ขณะที่ ผอ.สบท. เผยเป็นหนี้ต้องใช้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย…นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. กล่าวว่า มีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งร้องเรียนมายัง สบท.ว่า ถูกบริษัทโทรคมนาคมใช้วิธีทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ให้ข้อมูลเท็จเพื่อข่มขู่ หรือทำให้เสื่อมเสีย ขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทโทรคมนาคมใช้วิธีการทวงหนี้ 2 รูปแบบคือ การส่งจดหมายโดยบริษัทโทรคมนาคมที่เป็นเจ้าหนี้เอง หรือการจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการทวงหนี้แทนให้
“วิธีการส่งจดหมายโดยบริษัทโทรคมนาคมนั้น จะอ้างข้อมูลที่บางครั้งมีลักษณะหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และกลัวใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นหนี้จำนวน 107 บาท ส่งจดหมายแจ้งว่า หากไม่ชำระจะนำข้อมูลการค้างชำระเข้าสู่ระบบบัญชีดำ (BLACK LIST) โดยระบุว่า อาจส่งผลกระทบต่อท่านในการทำนิติกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินต่างๆและจะไม่สามารถขอติดตั้งโทรศัพท์ได้อีก โดยการเป็นหนี้โทรคมนาคมไม่เกี่ยวกับประวัติเครดิตใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นเป็นการหักผ่านบัตรเครดิต เช่น ซื้อไอโฟนผ่านบัตรเครดิต” ผอ.สบท. กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกกรณีที่ใช้วิธีการทวงหนี้โดยจ้างบริษัทเอกชนนั้น จะมีวิธีการที่ถูกร้องเรียนมามาก เพราะใช้วิธีการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การโทรติดตามหนี้กับบุคคลที่สาม เช่น คนในครอบครัว หรือ เพื่อนร่วมงาน อย่างระราน หรือรบกวน เพื่อให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จนกลายเป็นปัญหาในครอบครัวและในที่ทำงาน หรือการใช้คำพูดที่ก้าวร้าว ข่มขู่ ผู้ร้องรายหนึ่งแจ้งว่า ถูกบริษัทรับจ้างทวงหนี้โทรติดตามหนี้ทางโทรศัพท์ทั้งวันหรือโทรเล่าเรื่องให้เพื่อนร่วมงานฟังจนทราบกันทั้งบริษัท หรือบางรายถูกตามทวงหนี้จนต้องออกจากงาน ทั้งนี้แรงจูงใจที่ต้องทวงหนี้โหดเพราะมีการรับซื้อหนี้ เช่น บริษัทเจ้าหนี้รับแค่ร้อยละ 30 ที่เหลือบริษัททวงหนี้ได้เป็นรายได้
ผอ.สบท. กล่าวอีกว่า โดยหลักแล้วเมื่อเป็นหนี้ผู้ร้องก็ต้องใช้ บริษัทมีสิทธิทวงหนี้แต่การทวงหนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย การใช้วิธีการโทรไปแจ้งที่ทำงาน แจ้งเพื่อนร่วมงานหรือแฟกซ์ไปตามออฟฟิศจึงไม่สมควร สำหรับ ผู้บริโภคหากได้รับหนังสือทวงหนี้ให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากพบว่าไม่ถูกต้องให้โต้แย้งทันที และถ้าเป็นหนี้จริงให้หาทางยุติหนี้ อาจเจรจาไกล่เกลี่ยหรือผ่อนชำระกับบริษัท แต่หากเจอกรณีว่า บริษัทใช้วิธีการทวงหนี้ที่ไม่ถูกกฎหมายก็ดำเนินคดีได้ในประเด็นทวงหนี้ไม่เป็นธรรม โดยร้องเรียนไปที่ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. หรือสภาทนายความ สำหรับบริษัทโทรคมนาคม ควรตรวจสอบพฤติกรรมการทวงหนี้ของบริษัทที่ดำเนินการให้ว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้บริษัททวงหนี้ใช้วิธีการนอกกฎหมายเพราะย่อมส่งผลกระทบต่อภาพพจน์บริษัทโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริษัททุนขนาดใหญ่
Relate topics
- ฉีดวัคซีนโควิดคนละยี่ห้ออันตรายหรือได้ผล?
- เซี่ยงไฮ้เริ่มฉีดวัคซีนแบบเข็มเดียวจาก 'CanSino'
- สธ. เปิด Call center 180 คู่สาย ตอบปัญหานัดฉีดวัคซีนโควิด ไลน์หมอพร้อม
- สตาร์ทอัพที่เปลี่ยนมลพิษที่สุดในโลกให้เป็นผลกำไรสีเขียว
- ไปรษณีย์ไทยเตือนผู้ใช้ระวังมิจฉาชีพแอบส่งข้อความหลอกลวง
- กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นเรื่อง วัคซีนทางเลือกต้องจ่ายแพงกว่า 2,000 บาท เพราะต้องเสียภาษี 2 ครั้ง เป็น 14% ที่เผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ จาก
- “สมอ.” ฟัน “Shopee”-ผู้จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟ 6 รายขายสินค้าไร้ มอก.
- บริษัทในไทยถูก Ransomware โจมตี แฮกเกอร์ได้ข้อมูลลูกค้า AXA และกรุงไทย-แอกซ่า
- แพทย์ผิวหนังเผย อาหารเสริม วิตามิน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่า รักษาโรคผมบางได้จริง
- ผลสำรวจชี้ ชาวอเมริกันหันมาใช้ VPN ป้องกันการหลอกลวงและการแฮ็กออนไลน์