ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดี 3 จีเพิ่ม “สุริยะใส” เตรียมยื่น ป.ป.ช.-ผู้ตรวจฯ ฟัน กสทช.
ศาลปกครองกลางสั่งไม่รับฟ้องคดีล้มประมูล 3 จี อีกคดี กรณีที่ กสทช. ไม่นำความคิดเห็นเรื่องใช้ 3 จี 200 บาทต่อเดือนบรรจุในประกาศ กสทช. ชี้ยังไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ อีกคดีพนักงานทีโอทีอยู่ระหว่างแจ้งคู่กรณีทราบ ด้าน “สุริยะใส” เตรียมร้อง ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดินจันทร์นี้ เตือนเอกชนรวบรัดวางเงินประมูล 50% หวังใบอนุญาต อาจเข้ายข่ายสมรู้ร่วมคิด ผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลด้วย
วันนี้ (19 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์และจัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต โดยระบุว่า คดีนี้นายบุญชัย ประสงค์จะโต้แย้งการกระทำของ กสทช. ที่มิได้นำความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป อันได้แก่ ข้อเสนอเรื่องอัตราค่าบริการจากโครงการ “3G-200” คือให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายสูงสุดในการใช้โทรศัพท์ในระบบ 3 จีในอัตรา 200 บาทต่อเดือน หากใช้ไม่ถึง 200 บาท ก็ให้จ่ายตามจริง ที่เสนอโดยเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อประชาชน กำหนดไว้ในประกาศของ กสทช.
โดยศาลปกครอง เห็นว่าการดำเนินการของ กสทช.เช่นว่านี้ยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนายบุญชัย ตามมาตรา 28 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายบุญชัย ในฐานประชาชนทั่วไปในคดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการประมูลเกิดขึ้น และผู้ชนะประมูลซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมีอัตราค่าบริการที่สูงเกินไป และ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการ หรือละเลยไม่ดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้องเป็นธรรม นายบุญชัยจึงจะเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากการงดเว้นการกระทำของ กสทช. ส่วนที่นายบุญชัยอ้างว่า กสทช.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นั้น ย่อมถือเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีที่นายบุยชัยอาจยกกล่าวอ้างต่อศาลเมื่อมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายบุญชัยได้ในภายหลัง ด้วยเหตุดังกล่าวศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า นอกจากศาลจะมีคำสั่งในคดีนี้แล้ว ศาลยังมีคำสั่งในคดีที่ นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี และนายนราพล ปลายเนตร พนักงาน บมจ.ทีโอที กับพวกยื่นฟ้อง กสทช. ด้วย แต่อยู่ระหว่างแจ้งคู่กรณีทราบ ทำให้ถึงขณะนี้คดีฟ้องยุติการประมูลคลื่น 3 จี จำนวน 6 คดีที่ศาลปกครองกลางได้รับ ศาลได้มีคำสั่งไปแล้วรวม 5 คดี เหลือเพียงคดีที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มกรีนยื่นฟ้อง ที่ศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) เปิดเผยว่า ตนเห็นว่าอาการลุกลี้ลุกลนของ กสทช.โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่ใช้มติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 รับรองการประมูลเพื่อเร่งรัดออกใบอนุญาต 3 จี ให้เอกชนนั้น เป็นฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลสงสัย ทั้งที่การประมูลกำลังถูกสังคมวงกว้างตั้งคำถามว่ามีการฮั้วประมูลและทำให้ประเทศเสียหายอย่างใหญ่หลวง เหมือนมีการล็อกหรือเซ็ทอัพกระบวนการตั้งแต่ก่อนประมูลจนถึงขั้นตอนหลังประมูล ประมูลเสร็จวันเดียว รวบรัดลงมติรับรอง และถัดมาอีกวันเอกชนทั้ง 3 รายก็เอาเงินค่าประมูลไปจ่ายทันที 50% โดยไม่สนใจหนังสือทักท้วงจากกระทรวงการคลังที่ระบุว่าการประมูลไม่มีการแข่งขันและทำให้รัฐเสียรายได้มหาศาล
หรือแม้แต่นายณกฤช เศวตนันท์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.อ.เศรฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็มีหนังสือแนะนำให้มีการประมูลใหม่เพราะเข้าข่ายฮั้วประมูล แต่ กทค.ทั้ง 4 คนไม่นำพาหรือทบทวนแต่อย่างใด ชี้ให้เห็นว่ากระบสนการออกใบอนุญาต 3 จี มึพิรุธไม่โปร่งใส ไม่สนใจหลุกธรรมาภิบาลใดๆ ซึ่งตนอยากเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพนธ์การออกใบอนุญาต 3 จี และค่าใช้จ่ายในวันประมูลทั้งหมดว่าเท่าไร เพราะมีข่าวว่า กสทช.บางคนลงทุนตกแต่งห้องทำงานส่วนตัวไปตั้งกว่า 4 ล้านบาท และอัพเกรดรถประจำตำแหน่งจากคันละ 3 ล้านบาทเป็น 5 ล้านบาท
“ผมขอเตือนค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ที่รวบรัดวางเงินค่าประมูล 50% เท่ากับว่ากำลังเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกระทำที่สังคมสงสัยและตั้งข้อสังเกตุว่ามีการฮั้วประมูล 3 จี กัน ซึ่งต้องรับผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยง่นของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เพราะถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ตามมาตรา 10 และ 11 ห้ามพฤติกรรมการฮั้วประมูลทั้งส่วนที่เป็นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนด้วย ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 22 ต.ค. นี้ ทางกลุ่มกรีนและเครือข่ายจะไปยื่นกล่าวโทษ กสทช. และบริษัทเอกชนทั้ง 3 รายว่ามีพฤติกรรมฮั้วประมูลหรือไม่ และในวันเดียวกันก็จะยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรัดใช้สิทธิทางศาลแทนประชาชนเพื่อร้องให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินระงับการออกใบอนุญาต 3 จี ไว้ก่อน” นายสุริยะใส กล่าว
ทีี่มา : โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 ตุลาคม 2555
Relate topics
- ฉีดวัคซีนโควิดคนละยี่ห้ออันตรายหรือได้ผล?
- เซี่ยงไฮ้เริ่มฉีดวัคซีนแบบเข็มเดียวจาก 'CanSino'
- สธ. เปิด Call center 180 คู่สาย ตอบปัญหานัดฉีดวัคซีนโควิด ไลน์หมอพร้อม
- สตาร์ทอัพที่เปลี่ยนมลพิษที่สุดในโลกให้เป็นผลกำไรสีเขียว
- ไปรษณีย์ไทยเตือนผู้ใช้ระวังมิจฉาชีพแอบส่งข้อความหลอกลวง
- กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นเรื่อง วัคซีนทางเลือกต้องจ่ายแพงกว่า 2,000 บาท เพราะต้องเสียภาษี 2 ครั้ง เป็น 14% ที่เผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ จาก
- “สมอ.” ฟัน “Shopee”-ผู้จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟ 6 รายขายสินค้าไร้ มอก.
- บริษัทในไทยถูก Ransomware โจมตี แฮกเกอร์ได้ข้อมูลลูกค้า AXA และกรุงไทย-แอกซ่า
- แพทย์ผิวหนังเผย อาหารเสริม วิตามิน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่า รักษาโรคผมบางได้จริง
- ผลสำรวจชี้ ชาวอเมริกันหันมาใช้ VPN ป้องกันการหลอกลวงและการแฮ็กออนไลน์